หมวด ฝ พ ฟ ภ ม

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการทำงานชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้ความพยายามมานะอุตสาหะที่สูงมากเพื่อให้งานสำเร็จ

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง ก้อนทั่งเป็นก้อนเหล็กที่มีขนาดใหญ่ หากฝนให้บางลงจนเป็นเข็ม จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงและอดทนอย่างมาก

 

 

ฝากเนื้อไว้กับเสือ

สํานวนสุภาษิตนี้ มีความหมายเหมือนกับ “ฝากอ้อยไว้กับช้าง” “ฝากปลาย่างไว้กับแมว” หมายถึง ฝากของหรือฝากฝังสิ่งใดให้กับคนที่ชอบสิ่งนั้นเป็นอย่างมาก ก็มีความเสี่ยงสูง ที่จะสูญเสียของสิ่งนั้นไป

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง เสือเป็นสัตว์ที่ชอบกินเนื้อ แต่หากฝากเนื้อไว้กับเสือ โอกาสที่จะไม่ได้คืนสูงเพราะว่าเสือต้องกินเนื้อนั้นซะเอง

 

 

ฝนตกอย่าเชื่อดาว มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย

สํานวนสุภาษิตนี้ เป็นสุภาษิตสอนใจว่าอย่าไว้ใจและเชื่อมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เพราะบางอย่างอาจจะผิดพลาดได้

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการที่มีดวงดาวอยู่เต็มท้องฟ้า คือเป็นสภาพฟ้าเปิดไม่มีเมฆ จึงไม่มีแววที่ฝนจะตก แต่ไม่นานฝนก็อาจจะตกลงมาก็เป็นได้ ส่วนคำว่า “มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย” เป็นการอธิบายในเชิงที่ว่า แม้ชายหญิงจะตกล่องปล่องชิ้นกันแล้ว แต่หากแม่ยายเห็นคนอื่นที่ดีกว่า ก็อาจจะยกลูกสาวให้กับชายคนใหม่ได้  แม้โอกาสจะเกิดน้อยมากก็ตามที

 

 

พกหินดีกว่าพกนุ่น

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงทำจิตให้ให้เข็มแข็งหนักแน่น ดีกว่าหูเบาเชื่อคำคนอื่นโดยไม่ตรึกตรองก่อน

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง การพกหินเพื่่อให้มีความมั่นคงหนักแน่น ส่วนนุ่นเปรียบถึงของเบาไม่หนักแน่น

 

 

พบไม้งามเมื่อขวานบิ่น

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึง มีกับเหตุการณ์ที่ตนเองมีความพร้อม แต่ว่าก็สายไปแล้วที่จะคว้าโอกาสนั้นๆ หรือหมายถึงชายที่เผอิญพบกับผู้หญิงที่ถูกใจ แต่ตนเองนั้นมีครอบครัวหรือว่าสูงวัยมากแล้วไม่อำนวยในเรื่องการมีคู่ครอง

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงขวานที่บิ่นไม่มีความคมเหลืออยู่ แม้เจอต้นไม้ที่อยากจะตัดก็ไม่สามารถทำได้

 

 

พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการกระทำที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฎออกมา มีความแตกต่างจากของเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีความหมายได้ทั้งเปลี่ยนไปในทางที่ดี หรือเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงหน้ามือและหลังมือที่มีความตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

 

 

พิมเสนแลกกับเกลือ

สํานวนสุภาษิตนี้ มักมีนำหน้าคือ “อย่าเอาพิมเสน ไปแลกกับเกลือ” หมายถึงการลดตัวเองไปเกลือกกลั้วเพื่อกระทำการใดๆ กับสิ่งที่ต่ำกว่าจะมีแต่เสียหายกับตนเองเปล่าๆ

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง พิมเสนนั้นมีราคาแพงกว่าเกลือ แต่กลือนั้นมีราคาถูกกว่ามาก หากนำพิมเสนไปแลกเกลือแล้วมีแต่จะขาดทุน

 

 

พุ่งหอกเข้ารก

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการกระทำสิ่งใดเพื่อให้เสร็จแบบลวกๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการพุ่งหอกเข้าไปในป่ารก การกระทำเช่นนี้อาจจะเกิดอันตรายและเกิดความเสียหายกับสิ่งที่มองไม่เห็นที่อาจจะอยู่ในป่าที่รก นั้นได้

 

 

 

เพชรตัดเพชร

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคนที่มีสติปัญหาและความสามารถพอๆกัน เมื่อต้องมาแข่งขันหรือต่อสู้กัน ก็อาจจะเสมอหรือสูสีเพราะว่าเก่งเหมือนกัน

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการนำเพชรมาขูดกับเพชร จะไม่สามารถทำให้เกิดรอยใดๆได้เนื่องจากมีความแข็งแรงมากทั้งคู่

 

 

พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉยๆไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง การรอรับของรางวัลจากผู้มีอำนาจ หากพูดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกไปหากได้รางวัลก็จะได้เพียงเบี้ยจำนวนน้อยนิด แต่หากไม่พูดอะไรไปอยู่นิ่งๆก็จะไม่มีใครทราบข้อบกพร่องที่มีอยู่ ก็จะได้รางวัลมากกว่าเป็นตำลึงทอง

 

 

แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการยอมคู่กรณีเพื่อไม่ให้มีเรื่องราวใหญ่โต แต่ถ้าหากไม่ยอมแพ้ก็จะมีปัญหาและเรื่องราวอาจจะบานปลาย

ที่มาของสํานวน เป็นธรรมเทศนาที่มีกุศโลบายสอนให้คนรู้จักระงับความโกรธ โดยหากใช้ความอดกลั้นและยอมถอย ไม่ทะเลาะด้วย เรื่องราวร้ายๆก็จะไม่เกิด ถึงแม้จะเป็นฝ่ายแพ้ในการโต้เถียง แต่ก็ขึ้นชื่อได้ว่าประเสริฐนัก

 

 

ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงให้รู้จักกาละเทศะ รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอด้วย

ที่มาของสํานวน ท้องฟ้าเปรียบถึงความสูงส่ง ส่วนแผ่นดินนั้นอยู่ต่ำกว่าท้องฟ้ามากนัก และมีความห่างชั้นกันมาก สำนวนนี้เป็นสำนวนไทยแท้ ตั้งแต่สมัยอดีต แต่คนต่างชาติจะไม่มีค่านิยมเช่นนี้

 

 

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการพูดถึงเรื่องเก่าๆขึ้นมา เพื่อให้มีประเด็นปัญหาขึ้นอีก ทั้งๆที่เรื่องราวนั้นได้จบลงไปแล้ว

ที่มาของสํานวน

 

 

ฟังหูไว้หู

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการรับฟังเรื่องราวต่างๆ ให้เพียงแต่รับฟังไว้ก่อน อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่ได้รับฟังทั้งหมด

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการที่คนเราฟังเรื่องราวใดๆ ให้ใช้หูฟังข้างเดียว ส่วนหูอีกข้างให้เอาไว้ก่อน คือปิดหูอีกข้างไว้

 

 

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอามากระเดียด

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการได้ยินเรื่องราวใดๆมาแบบไม่เข้าใจถ่องแท้ แล้วนำมาถ่ายทอดแบบผิดๆ หรือนำมาใช้แบบผิดๆ

ที่มาของสํานวน “กระเดียด” คือ ค่อนข้าง,หนักไปทาง เมื่อมารวมกันเป็น “ฟังไม่ได้ศัทพ์ จับเอามากระเดียด” ก็จะหมายถึงการฟังอะไรมาแบบไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ก็นำไปใช้ตามความเข้าใจที่เข้าใจเองว่าน่าจะถูก

 

 

 

มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก

สํานวนสุภาษิตนี้ มีความหมายเหมือนกับคำว่า “จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน” หมายถึงผู้ที่พูดจาตลบแตลง กลับกลอก เอาตัวรอดเก่งรู้จักใช้คำพูดพลิกแพลงเอาตัวรอดได้เสมอ แต่มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงคนที่หลบหลีกเก่งได้คล่องแคล่ว แม้จะเอามะกอกซัก 3 ตะกร้าขว้างไปก็ไม่โดน

 

 

 

 

ไม่พบวัวอย่าฟั่นเชือก ไม่พบเรือกอย่าตั้งร้าน

สํานวนสุภาษิตนี้ หากเหตุการณ์ยังไม่มีความแน่นอน อย่าเพิ่งด่วนเตรียมการมากเกินไป เพราะอาจจะเสียเปล่าได้ สำนวนนี้มีความหมายเหมือนกับสำนวน “ไม่เห็นกระรอก อย่าโก่งหน้าไม้”

ที่มาของสํานวน คำว่า “ฟั่นเชือก” หมายถึงการทำสิ่งที่เป็นเส้นให้เข้าเกลียวขดเป็นเชือก คำว่า “เรือก” หมายถึงไม้ไผ่ที่ผ่าออกเป็นซีก แล้วร้อยด้วยหวายให้ติดกันสำหรับปูเป็นพื้น สำนวนนี้เปรียบว่า หากยังไม่ได้วัวก็อย่าเพิ่งฟั่นเชือกไม่เช่นนั้นจะเสียแรงโดยเปล่าประโยชน์

 

 

 

มะพร้าวห้าวมาขายสวน

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการที่คนมีความรู้ด้านนั้นน้อย แต่กลับไปหลอกลวงผู้ที่มีความรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี สำนวนนี้ต่างจาก “สอนจระเข้ว่ายน้ำ” หรือ “สอนหนังสือสังฆราช” เพราะสองสำนวนนี้หมายถึงการที่ ผู้ที่รู้น้อยกว่าไปสอนหรือแนะนำคนที่มีความรู้มากกว่าแต่ ผู้สอนมีเจตนาที่บริสุทธ์

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการที่คนนำมะพร้าวห้าว ที่เป็นมะพร้าวแก่จัด ไปหลอกขายคนสวนมะพร้าวที่มีความรู้ด้านมะพร้าวเป็นอย่างดี จึงไม่สามารถที่จะหลอกคนสวนได้

 

 

 

มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไม่ยอมช่วยงานส่วนรวม แต่ยังทำตัวเกะกะการดำเนินงานของส่วนรวมมีความลำบากมากขึ้นไปอีก

ที่มาของสํานวน คำว่า “รา” ในที่นี้ แปลว่า ทำให้น้อยลง อ่อนลง หมดไปอย่างช้าๆ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” เปรียบเปรยถึงผู้ที่ลงเรือลำเดียวกับคนอื่นแล้วไม่ยอมช่วยพายเรือ แต่ยังเอาขาจุ่มลงไปในน้ำ ยิ่งจะทำให้คนพายอื่นๆต้องใช้ลำบากมากยิ่งขึ้น

 

 

 

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงผู้ที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด คือถ้าทำวิธีแรกไม่สำเร็จ ก็จะหาพยายามใช้วิธีที่สอง ถ้าวิธีที่สองไม่ได้อีก ก็จะหาทางอื่นๆเพื่อให้สำเร็จให้ได้ สํานวนนี้จะใช้กับการกระทำที่มีลักษณะไม่ซื่อ หรือการกระทำด้วยวิธีที่ไม่ดี

 

 

ไม่พ้นชวด ฉลู ขาล เถาะ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งทำอะไรไปแล้วไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ต้องวกกลับมาอยู่ที่เดิม

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงปี 12 นักษัตร ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะวนกลับมาที่เดิมเสมอ

 

 

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้

สํานวนสุภาษิตนี้ มีคำต่อท้ายคือ “ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ ไม่มีหนี้เขาก็ไม่ทวง” หมายถึงเรื่องที่เล่าๆกันอยู่ อาจจะมีข้อมูลเป็นจริงอยู่บ้าง เพราะไม่เช่นนั้นอยู่ดีๆ คงไม่มีคนพูดขึ้นมาลอยๆได้

ที่มาของสํานวน ปกติสุนัขจะถ่ายบริเวณที่มีความสกปรก ถ้าพื้นที่ใดสะอาดหมามักจะไม่มาถ่าย

 

 

ไม่รู้จักเสือ เอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาแหย่

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงผู้ที่ไม่รู้จักประมาณตนไปต่อสู้หรือแข่งขัน กับคนที่มีความชำนาญกว่ามาก โดยที่ไม่ได้ศึกษาหรือรู้จักเขาเลย ทำให้พ่ายแพ้อย่างหมดท่า

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการเอาเรือไปจอดในป่าในบริเวณที่มีเสือดุ หรือเอาไม้เข้าไปแหย่ในกองมอด มักจะมีอันตรายและเกิดความเสียหายตามมา

 

 

ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการที่เตรียมพร้อมเตรียมตัวล่วงหน้ามากจนเกินไป ทั้งๆที่เหตุการณ์นั้นยังมีโอกาสเกิดน้อย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ต้องเสียเวลาเสียแรงเปล่าโดยไม่จำเป็น

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงเวลาเดินป่า เมื่อเจอบ่อน้ำแล้วค่อยตัดกระบอก ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัดกระบอกไว้ก่อน เพราะหากไม่เจอบ่อน้ำแล้วจะเสียแรงเปล่า หรือหากยังไม่เจอกระรอก ก็อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้รอ เพราะจะเสียแรงไปเปล่าๆ

 

 

ไม้ซีกงัดไม้ซุง

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงผู้ที่ไม่มีอำนาจหรือต่ำต้อยกว่าแต่อาจหาญไปต่อกรหรือสู้กับคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ก็จะมีแต่เสียหายหรือได้รับอันตรายและกระทำการไม่สำเร็จ

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงไม้ซีกที่มีขนาดเล็กแต่นำไปงัดไม้ซุงที่มีขนาดใหญ่ ก็จะไม่สามารถงัดขึ้นมาได้และไม้ซีกเองก็จะหักด้วย

 

 

มดแดงแฝงพวงมะม่วง

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงชายที่หลงรักหญิงที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง แต่ตนเองก็ไม่สมหวังกับความรัก โดยได้แต่คอยแอบกันท่าไม่ให้มีชายอื่นมารักหญิงที่ตนเองแอบชอบอยู่

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงมดแดงที่แฝงอยู่ที่พวงมะม่วง แมตัวมดจะไม่ได้กินมะม่วง แต่หากมีใครที่อยากจะเด็ดมะม่วงมากินมดก็จะกัด

 

 

มือถือสาก ปากถือศีล

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคนที่ภายนอกดูประพฤติตนดีมีคุณธรรม แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึง คนที่ปากพูดแต่เรื่องศีลธรรม แต่ในมือกลับถือสากกะเบือเพื่อจะทำร้ายคนอื่น

 

 

มือใครยาว สาวได้สาวเอา

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงต่างคนต่างรุมแย่งที่จะแสวงหาประโยชน์จากสิ่งหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงคนอื่นๆ

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงคนที่มีความเห็นแก่ตัว ที่แย่งของกันเปรียบกับใครที่รุมแย่งได้เร็วกว่า แขนยาวกว่าก็จะโกยประโยชน์ได้มากกว่า

 

 

แมงเม่าบินเข้ากองไฟ

สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคนที่ลุ่มหลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยคิดว่าเป็นสิ่ที่ดี และหลงผิดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จนตนเองได้รับอันตราย

ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงแมงเม่าที่ชอบเล่นกับแสงไฟ แต่เมื่อบินเข้ากองไฟก็จะตาย

 

 

แมวไม่อยู่หนูละเลิง

สํานวนสุภาษิตนี้ ปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็นคำว่า “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง” มีความหมายว่าเวลาที่ผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้น้อยก็จะมีความสนุกสนานร่าเริงเนื่องจากไม่มีคนคอยคุมพฤติกรรม

ที่มาของสํานวน คำว่า “ละเลิง” เป็นคำโบราณ หมายความว่า หลงลืมตัว,คึกคะนอง เปรียบเปรยถึง เมื่แมวไม่อยู่ หนูก็จะมีความคึกคะนองเพราะไม่ต้องกลัวแมวมาทำร้าย

 

ใส่ความเห็น